ทหารรับจ้างคองโก

ทวีปแอฟริกาจัดว่าเป็นทวีปที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในโลกในช่วงเวลาเพียงแค่ศตวรรษเดียว เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทำให้ทวีปนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความสับสนวุ่นวาย การใช้ความรุนแรงคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในทวีปแอฟริกา (Anthony Clayton, Frontiersmen: Warfare in Africa since 1950)

สาธารณรัฐคองโก (ชื่อประเทศในขณะนั้น) อดีตอาณานิคมเบลเยี่ยม เป็นประเทศเกิดใหม่ในยุคสงครามเย็น ซึ่งก็ไม่ต่างจากประเทศอดีตอาณานิคมแห่งอื่นๆของโลก ที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ต้องเปิดรับการสนับสนุนจากต่างชาติในรูปแบบต่างๆ มันก็เป็นช่องทางให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงได้โดยไม่ยากเช่นกัน

จากประเทศเอกราชสู่รัฐล้มเหลว

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลักเรื่องทหารรับจ้างคองโก ผู้เขียนจะขอท้าวความถึงประวัติศาสตร์โดยย่อ เพื่อให้ทราบถึงที่มาที่ไปของความขัดแย้งทางการเมืองในสาธารณรัฐคองโก

เบลเยี่ยมก็เหมือนจักรวรรดินิยมชาติอื่นๆ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมแห่งการล่มสลายของจักรวรรดินิยมเพราะสงครามเย็น สายลมแห่งการเปลี่ยนผ่านก็ได้พัดพามาถึงอาณานิคมเบลเยี่ยมคองโกแห่งนี้เช่นกัน, ยุคสงครามเย็นนอกจากจะเป็นยุคแห่งความตึงเครียดระหว่างขั้วลัทธิการปกครอง ยังเป็นยุคเฟื่องฟูของกระแสชาตินิยม ดินแดนภายใต้การปกครองของจักรวรรดินิยมชาติต่างๆเริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อปลดแอกตัวเอง ในอาณานิคมเบลเยียมคองโกก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชอย่างจริงจังมาตั้งแต่ยุค 1950 แต่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวด้วยการใช้กำลังทหาร เบลเยียมเองก็เฝ้ามองจักรวรรดินิยมเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันตกอย่างจักรวรรดิฝรั่งเศส ที่ต้องรับมือการลุกฮือในอาณานิคม จักรวรรดิฝรั่งเศสกำลังติดหล่มในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายชนิดถอนตัวไม่ขึ้นในแอลจีเรีย เบลเยียมเองก็ไม่ได้มีความแข็งแกร่งทางทหารเหมือนอย่างฝรั่งเศส และถ้าหากเกิดการลุกฮือในคองโกเบลเยียมเองก็คงรับมือไม่ไหว เบลเยียมเองก็ไม่อยากอยู่ในสภาพเดียวกับฝรั่งเศส

การพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวคองโกทางการเมืองเริ่มเข้มข้นจนถึงขีดสุดในปี 1959 เมื่อเกิดการจราจลขึ้นในเดือนสิงหาคม 1959 ที่เมืองลูลาบูร์ก ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วอาณานิคมอย่างรวดเร็ว การก่อจราจลย่อมมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มีชาวคองโกและชาวยุโรปเป็นเหยื่อของความรุนแรงนี้เป็นจำนวนมาก แม้ว่าสถานการณ์ในคองโกจะยังไม่ยกระดับไปเป็นการทำสงครามปฏิวัติ แต่เบลเยียมก็เริ่มตึงมือในการรักษาความสงบภายใน และดูท่าแล้ว ถ้าหากเบลเยียมยังคงดื้อดึงต่อไป ไม่ยอมหาทางออกทางการเมืองกับแกนนำเรียกร้องเอกราชกลุ่มต่างๆ ไม่ช้าไม่นานจะเกิดสงครามปฏิวัติแน่นอน

การก่อจราจลในเมืองสแตนเลย์วิลด์ 1959

การให้เอกราชเกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ เบลเยียมไม่เคยเตรียมความพร้อมให้คองโกสามารถปกครองตัวเองได้ แต่ต้องมาเร่งเปลี่ยนถ่ายอาณานิคมไปสู่เอกราช กำหนดการให้เอกราชอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน 1960 ถือว่าเป็นขั้นตอนที่เร็วมาก เพราะเกิดขึ้นในเวลาไม่ถึงปีหลังจากเกิดการก่อจราจลเป็นครั้งแรก และการให้เอกราชทั้งๆที่ไม่มีความพร้อมมันก็คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่มันจะทำงานเกือบทันทีเมื่อให้เอกราช

5 กรกฏาคม 1960 เกิดการลุกฮือขึ้นโดยทหารฟอร์ซพับลิก แต่เดิมคือทหารอาณานิคม ตอนนี้ทำหน้าที่กองทัพแห่งชาติ ทหารยังถูกปฏิบัติเหมือนกับก่อนได้เอกราช ชาวคองโกเองไม่สามารถดำรงชั้นยศได้สูงไปมากกว่า จ.ส.อ. (จ่าสิบเอก) นายทหารจะเป็นชาวเบลเยียมทั้งหมด แม้ว่าหลังได้เอกราชไปแล้วก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่เป็นคนดำท้องถิ่นยังอยู่ในระหว่างการฝึกอบรม พวกทหารไม่พอใจที่ต้องอยู่ภายใต้การบัญชาการโดยชาวเบลเยียม รวมถึงยังไม่พอใจที่ไม่ได้มีการเลื่อนยศให้เป็นนายทหาร พวกทหารที่ก่อกบฏได้จัดการกับนายทหารเบลเยียมและออกจากฐานทัพมาอาละวาดไปตามท้องถนน ซึ่งทั้งคนดำและคนขาวก็ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ทหารฟอร์ซพับลิกมีโครงข่ายวิทยุถึงกันจึงทำให้การก่อกบฏแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ระเบิดเวลาลูกใหญ่จากยุคสมัยของจักรวรรดินิยมได้ทำงานเพียงแค่ไม่ถึงสัปดาห์หลังให้เอกราช

จากสถานการณ์ความวุ่นวายภายใน รัฐบาลไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ เบลเยี่ยมไม่อยากรออะไรอีกแล้ว จากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐคองโกและราชอาณาจักรเบลเยียม รัฐบาลคองโกอนุญาตให้เบลเยียมใช้ฐานทัพได้สองแห่ง ซึ่งเป็นฐานทัพมาตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยม รัฐบาลคองโกต้องอนุญาตเสียก่อนถ้าหากจะให้ทหารเบลเยียมจากฐานทัพทั้งสองมาช่วยรักษาความสงบภายใน เบลเยียมไม่รอคำอนุญาตจากรัฐบาลคองโก ทหารเบลเยียมจากฐานทัพทั้งสองและกำลังเสริมจากในยุโรปได้โดยเคลื่อนกำลังออกมาปราบปรามทหารกบฏเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวยุโรป รวมถึงเพื่อฟื้นฟูความสงบภายใน เนื่องจากเป็นการกระทำโดยพลการเอง รัฐบาลคองโกจึงเรียกร้องให้ UN ทำการกดดันต่อเบลเยียมเพื่อให้ยุติปฏิบัติการทางทหารและถอนทหารออกไปทันที

พลร่มเบลเยียมขณะทำการยึดสนามบินเลโอโปลด์วิลด์ เพื่อคุ้มกันการอพยพพลเรือนเบลเยียม

เบลเยียมยังคงมีผลประโยชน์อยู่ในคองโก โดยเฉพาะเรื่องของสัมปทานเหมืองแร่หายาก อย่างเช่น โคบอลต์หรือยูเรเนียม ในระหว่างการก่อกบฎของทหารฟอร์ซพับลิกยังมีความพยายามในการแยกดินแดนของแคว้นคาแทงก้าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่นี่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการก่อกบฏโดยทหารฟอร์ซพับลิก แคว้นนี้ค่อนข้างสงบกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ แคว้นคาแทงก้าถือว่ามีความสำคัญทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคองโก สามารถชี้เป็นชี้ตายประเทศได้เลย แหล่งรายได้หลักๆของสาธารณรัฐคองโกมาจากเหมืองแร่ในแคว้นคาแทงก้า ทางด้านรัฐบาลสาธารณรัฐคองโกเองก็มีท่าทีไม่เป็นมิตรกับเบลเยียม เบลเยียมต้องการรักษาผลประโยชน์เหมืองแร่ ประกอบกับมออิส ชรอมเบ นักการเมืองท้องถิ่นคาแทงก้าไม่ต้องการอยู่รวมกับรัฐบาลกลาง เขาเป็นคนโปรตะวันตก ขณะที่รัฐบาลกลางคองโกมีท่าทีไม่เป็นมิตรกับตะวันตกเท่าไหร่ เบลเยียมจึงหนุนหลังการแยกดินแดน

ทหารเบลเยียมต้องถอนกำลังตามแรงกดดันของ UN และแทนที่ด้วยกองกำลังรักษาสันติภาพ UN จากประเทศโลกที่ 3 อย่างเช่น ไอร์แลนด์, สวีเดน, ตูนิเซีย, อินเดีย เป็นต้น ในแคว้นคาแทงก้าก็ไม่ได้รับการยกเว้น เบลเยียมก็ต้องถอนทหาร แม้จะพยายามเตะถ่วงให้นานที่สุด ระหว่างการถ่วงเวลาถอนทหาร เบลเยียมได้ช่วยสร้างเสริมกองทัพให้คาแทงก้า ทหารฟอร์ซพับลิกเดิมในเขตคาแทงก้าถูกแปรสภาพมาเป็นกองทัพคาแทงก้า นอกจากนี้ยังมีการรับอาสาสมัครมาเป็นทหารเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือรัฐบาลกลางคองโก เพราะรัฐบาลกลางไม่ยอมแน่นอนถ้าคาแทงก้าจะแยกดินแดน

กำเนิดทหารรับจ้างคองโก

แคว้นกบฏคาแทงก้าที่ได้รับการหนุนหลังจากเบลเยียม นอกจากจะมีกองทัพที่ประกอบไปด้วยคนท้องถิ่น ยังมีการเปิดรับทหารรับจ้างผิวขาวด้วยเช่นกัน คำว่าเปิดรับทหารรับจ้างคือการเลี่ยงบาลี ความเป็นจริงแล้วทหารรับจ้างผิวขาวก็คือทหารประจำการของเบลเยียม แต่ต้องแปรสภาพเพื่อตบตา UN แบบนี้เท่ากับว่าเบลเยียมได้ถอนทหารออกไปหมดแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับทหารรับจ้างผิวขาวจากชาติอื่นที่พูดฝรั่งเศสและอังกฤษอีกเช่นกัน ประเทศอื่นที่ส่งทหารรับจ้าวผิวขาวมาเข้าร่วมก็คือประเทศที่มีผลประโยชน์ในเหมืองแร่เช่นกัน

กองทัพคาแทงก้ามีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า คาแทงก้าฌองดาเมอร์รี่ (Gendarmerie Katangaise) มีนายทหารพลร่มเบลเยียม พ.ต. ฌี วือแบร์ เป็นที่ปรึกษาทางทหาร โดยได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากมออิส ชรอมเบ ประธานาธิบดีแห่งคาแทงก้า ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้ง พ.ต. วือแบร์ เป็นผู้บัญชาการทหารพลร่มเบลเยียมที่ประจำการอยู่ในฐานทัพคามิน่า สาธารณรัฐคองโก เรียกได้ว่าเป็นคนกันเองที่คุ้นเคยกับคองโกเป็นอย่างดี

ผู้บัญชาการกองทัพคาแทงก้าคือ พ.อ. ฌอง มารีย์ เครเวเกอร์ ตำแหน่งก่อนที่จะถูกแปรสภาพมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพคาแทงก้า คือนายทหารฟอร์ซพับลิก ซึ่งก็เป็นคนกันเองอีกเช่นกัน เพราะเคยบัญชาการทหารฟอร์ซพับลิกมาตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยม

พ.อ. ฌอง มารีย์ เครเวเกอร์ (คนซ้าย) พ.ต. ฌี วือแบร์ (คนขวา)

นายทหารคนอื่นๆของกองทัพคาแทงก้า มีส่วนหนึ่งถูกยืมตัวจากกองทัพเบลเยียม อีกส่วนหนึ่งคือนายทหารฟอร์ซพับลิก นายทหารผิวขาวจากเบลเยียมทำหน้าที่บัญชาการคนดำอีกต่อ นายทหารผิวขาวจากเบลเยียมมาในรูปแบบของทหารรับจ้าง โดยที่นายทหารพวกนี้พูดฝรั่งเศส

รัฐบาลฝรั่งเศสเองก็มีผลประโยชน์ในเหมืองแร่คาแทงก้า และได้ส่งทหารรับจ้างมาเข้าร่วมเช่นกัน ถ้าจะพูดถึงทหารรับจ้างฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในแอฟริกา ก็ต้องนึกถึงบ๊อบ เดอร์นาร์ต คนนี้เป็นตำรวจฝรั่งเศสแต่ผันตัวหันมาเอาดีในด้านการเป็นทหารรับจ้าง

ส่วนทหารรับจ้างผิวขาวที่พูดอังกฤษก็มีเช่นกัน โดยมาจากโรดีเซียและแอฟริกาใต้ แต่ว่าทหารรับจ้างที่พูดอังกฤษจะถูกแยกไปเฉพาะ ไม่ได้ไปอยู่รวมกับหน่วยปกติที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส

กองทัพคาแทงก้าในช่วงที่มีความแข็งแกร่งสูงสุด มีกำลังพลอยู่ราวๆ 13,000 นาย มีนายทหารผิวขาวราว 460 นาย มีนายทหารและนายสิบคนดำราว 144 นาย ส่วนใหญ่จะใช้อาวุธจากตะวันตกเป็นหลัก ส่วนมากเป็นอาวุธเบลเยียม บางส่วนเป็นอาวุธอเมริกัน

ส่งท้าย

คำว่าเปิดรับสมัครทหารรับจ้างไม่ใช่หมายความว่าจะรับใครที่ไหนมาก็ได้ แต่อาจเป็นการพยายามเลี่ยงบาลีของรัฐบาลเพื่อเปิดทางให้กับทหารต่างชาติเข้าแทรกแซง แคว้นคาแทงก้าไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสู้รบเพื่อแบ่งแยกดินแดน การจะสู้รบเพื่อแยกดินแดนจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างชาติ ลำพังกองทัพคาแทงก้าถ้าไม่มีความช่วยเหลือจากต่างชาติจะไม่สามารถยันทหาร UN ไว้ได้แน่นอน เพราะการแทรกแซงของตะวันตกจึงทำให้คาแทงก้าสามารถยันทหาร UN ไว้ได้ และทำให้มออิส ชรอมเบ มีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลกลาง ถ้าหากกองทัพคาแทงก้าไม่แข็งแกร่ง มออิส ชรอมเบ ก็คงเป็นเหมือนอาชญากรคนหนึ่ง ที่ไม่มีอำนาจอะไรต่อรองกับรัฐบาล ประเทศที่ส่งทหารเข้าร่วมกับคาแทงก้าก็ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ในแคว้นคาแทงก้า ทหารที่ส่งมาก็มาตามคำสั่งรัฐบาล ไม่ใช่อาสาสมัครที่มาด้วยใจ

เอกสารประกอบบทความ

  1. Congo Unravelled: Military Operations from Independence to the Mercenary Revolt 1960–68 (Africa@War Book 6)
  2. Modern African Wars (4): The Congo 1960–2002 (Men-at-Arms Book 492)

ใส่ความเห็น

Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้